หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
โดย ทรงพล ศิริวรรณเลิศ
ใน Discover Pattaya ฉบับก่อนๆ เราได้นำเสนอเรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา พระเอกอมตะนิรันดร์กาลของชาวไทยและการจัดงานรำลึกถึงเขาโดยหอภาพยนตร์ ในฉบับนี้ เราใคร่ขอนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนกิจกรรมของหอภาพยนตร์และ พาชมสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆอาทิ เช่น โรงภาพยนตร์ หอนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ และ ภูมิทัศน์ต่างๆ
หอภาพยนตร์ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2527 โดยมี อาจารย์โดม สุขวงศ์ เป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิก โดยในขณะนั้น ไม่มีสถานที่ทำงานให้แก่อาจารย์โดมอย่างเป็นทางการ โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์นี้ได้เริ่มขึ้นเมื่ออาจารย์โดมไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทยจากหนังสือและเอกสารในหอสมุดแห่งชาติในปี พ.ศ.2521 ประกอบกับการไปพบปะพูดคุยและขอสัมภาษณ์ผู้รู้และคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้า จากนั้นต่อมา อาจารย์โดม ก็ได้ติดต่อขอฟิล์มภาพยนตร์เก่าของหน่วยงานราชการต่างๆตลอดจนบริษัทเอกชนมาเพื่อการอนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ นอกจากนั้น อาจารย์โดมยังขอเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อการค้นหาและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ไทย ในปี พ.ศ.2527 หอภาพยนตร์ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในนามของหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยใช้โรงกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ซึ่งเลิกใช้แล้วที่ถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นที่ทำการชั่วคราว กิจกรรมตอนนั้น เป็นการจัดฉายภาพยนตร์ไทยรุ่นเก่าเป็นครั้งคราว ในปี พ.ศ.2552 หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้เปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสนันสนุนด้านงบประมาณ ปัจจุบันได้มีสถานที่เป็นของตนเองที่ตำบลศาลายา ใกล้ๆมหาวิทยาลัยมหิดล มีการสร้างอาคารใหม่ โดยมีโรงภาพยนตร์ 3 โรง จัดกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ทั้งของไทยและของโลกให้ชมฟรีเป็นประจำทุกวัน มีห้องนิทรรศการ โดยขณะนี้กำลังจัดนิทรรศการ Mithology แสดงประวัติชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา ไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ แสดงอุปกรณ์การถ่ายทำและฉากในภาพยนตร์ เมืองมายาที่จัดแสดงโรงภาพยนตร์จำลองจาก Nickelodean หรือโรงหนังสตางค์แดง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แรกของโลก ตั้งอยู่ที่เมืองพิตสเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และห้องดูภาพเคลื่อนไหวจากฟิล์มโดยดูจากถ้ำมองเป็นรายคน ซึ่ง เรียกว่ าคีเนโตสโคป อันเป็นเครื่องฉายภาพยนตร์ที่ โทมัส อัลวา เอดิสัน ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในโลก นิทรรศการถาวรเรื่องการฉายภาพยนตร์โดยเก็บค่าดูวันแรกของสยาม ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ คือวันที่ 10 มิถุนายน 2440 และ นิทรรศการถาวรบนตู้รถไฟ แสดงการผลิตภาพยนตร์ในยุคแรกของประเทศไทย ซึ่งบางคนมีคำถามในใจว่า ทำไมรถไฟและภาพยนตร์ จึงเกี่ยวข้องกัน ในยุครัชกาลที่ 6 และ 7 ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน โดยกรมรถไฟหลวงได้รับมอบหมายให้ถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับกิจการรถไฟและพระราชพิธีต่างๆ ตลอดจนการฉาย และเก็บรักษาฟิล์มเหล่านั้น ต่อมาฟิล์มเหล่านั้นเก็บรักษาโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งอาจารย์โดมได้ขอฟิล์มเหล่านั้นมาอนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์..