ประเพณีลอยกระทงและความเป็นมา
วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือ เดือนยี่ ตามปฎิทินล้านนา ซึ่งชาวเหนือเรียกกันว่า “ยี่เป็ง” แปลว่าวันเพ็ญเดือนยี่ ตามปฏิทินไทยคือวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นวันเพ็ญสุดท้าย ส่งท้ายปีทางจันทรคติ ในปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว คืนวันวันลอยกระทง จะเป็นคืนที่น้ำขึ้นสูงสุด เหมาะสำหรับการละเล่นเพลงเรือพื้นบ้าน จึงถือเป็นเทศกาลใหญ่ของไทย ส่งท้ายปี ในสังคมปัจจุบัน ชาวไทยนิยมนำกระทงที่เย็บเป็นทรงดอกบัว จุดเทียนและใส่ดอกไม้ลงไป เพื่อนำไปลอยในแม่น้ำ ลำคลอง และ แหล่งน้ำทั่วไป โดยมีคติความเชื่อต่างๆกัน โดยหลักคือ 1. บูชารอยพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ก้นแม่น้ำนัมทานที 2. ขออภัยต่อพระแม่คงคา จากการที่เราได้ชำระล้างสิ่งสกปรกลงไปในแหล่งน้ำ 3. ลอยเคราะห์โศกโรคภัยให้ไปกับกระทง ซึ่งมีผู้นิยมใส่เงินหรือเส้นผมลงไป อนึ่ง พิธีการลอยกระทง มีแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังมีการละเล่นดอกไม้ไฟ ควบคู่กันไปด้วย ทางภาคเหนือ จะมีการประกวดโคมลอยของแต่ละวัดและชุมชน เป็นโคมลอยขนาดใหญ่ ทรงสี่เหลี่ยมคล้ายแท๊งค์น้ำ จุดคบไฟใส่ความร้อนลงไป แล้วแขวนประทัดไปด้วย เมื่อในโคมร้อนได้ที่ จึงปล่อยขึ้นในอากาศ และประทัดก็จะแตกเป็นระยะๆ ส่งเสียงให้ผู้คนแหงนหน้ามองบนท้องฟ้า
ถ้าเรามองย้อนไปถึงต้นกำเนิดของการลอยกระทง จะเริ่มในยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตามตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งนางนพมาศได้ เขียนเล่าเรื่องประเพณีต่างๆในยุคนั้น ได้แก่ การจัดพานดอกไม้สอง ชั้นไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง พระราชพิธีจงเปรียงลอยพระประทีป โดยชักโคมขึ้นไปแขวนไว้เป็นราว เพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้า การละเล่นพลุตะไลไฟพะเนียง และลอยกระทงในตระพังเงินตระพังทอง (อ่างเก็บน้ำซึ่งกรุอิฐไว้จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำในยุคนั้น) ต่อมาในยุคกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชพิธีลดชุดลอยโคม คือการชักโคมขึ้นยอดเสาเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลดโคมลง นำไปลอยในแม่น้ำเพื่อบูชาพระแม่คงคา ประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างก็ลอย กระทงลงในแม่น้ำ และ แหล่งน้ำต่างๆ อีกทั้งเล่นโคมลอยขนาดเล็กและดอกไม้ไฟ อย่างที่เห็นกันทั่วไป จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนอย่างเชียงใหม่และลำปาง มีการจัดประกวดกระทงใหญ่ และ นางนพมาศ โดยแห่ไปบนถนนสายหลัก ของเมือง แล้วนำไปลอยในแม่น้ำ…..